สำหรับนักลงทุนยุคใหม่ทั้งหลายคงจะรู้จักคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือเหรียญดิจิทัล กันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, Dogecoin ฯลฯ ที่มาแรงอย่างมากตอบสนองการลงทุนของคนในยุคดิจิทัลอย่างมาก และอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่กำลังเป็นกระแสไม่แพ้กันก็คือ NFT ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในกลุ่มศิลปินและนักสะสม ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ เกม แฟชั่น ฯลฯ ต่างโดดเข้ามาร่วมวง NFT จนมีเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างมหาศาล ดังนั้นถ้าใครไม่อยากตกเทรนด์ ต้องรู้จัก NFT กันหน่อย โดย Za.in.th ขออาสาแนะนำให้มือใหม่ได้ทราบกัน
Non-Fungible Token หรือ NFT คืออะไร
NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token เป็นชื่อเรียกของ Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ต่อให้มีการก๊อบปี้ไป แต่ต้นฉบับของจริงจะมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนโทเคน NFT ก็เป็นเหมือนโฉนด เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนี้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่น ผลงานศิลปะ หรือที่เรียกว่า Crypto Art ภาพถ่าย ภาพ Meme เพลง วิดีโอ ของสะสม การ์ดเกม กีฬา การ์ตูน รวมทั้งงานแฟชั่นด้วย พูดง่าย ๆ ว่าอะไรก็ตามที่เป็นเอกลักษณ์ชิ้นเดียวในโลกก็สามารถนำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบ NFT ได้ทั้งสิ้น
ความแตกต่างรหะว่าง Cryptocurrency กับ NFT
ทั้งสองทำงานอยู่บนบล็อกเชน (Blockchain) ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งคู่ ซึ่งมีข้อแตกต่างคือ NFT แต่ละเหรียญมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทดแทนกันไม่ได้ แต่ Cryptocurrency ทุกเหรียญในสกุลเงินนั้นไม่มีความแตกต่างกัน สามารถใช้ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนแทนกันได้หมด ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ NFT ก็เหมือนกับงานศิลปะ ถ้าเราตั้งใจจะซื้อภาพนี้ ก็ต้องได้โทเคนของภาพนี้เท่านั้น จะเอาโทเคนอื่นมาให้แทนไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนละภาพกัน แต่ Cryptocurrency เสมือเงิน เพื่อนขอยืมเงิน 100 บาท เราให้แบงก์ร้อยไป เมื่อเพื่อนนำเงินมาคืน ก็ไม่จำเป็นต้องเอาแบงก์ร้อยใบเดิมมาคืนก็ได้ จะนำเหรียญห้า เหรียญสิบ แบงก์ยี่สิบ แบงก์ห้าสิบ หรือแบงก์ร้อยใบอื่นมาคืนก็ไม่มีใครว่า เพราะมีมูลค่าเท่ากัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ และข้อแตกต่างที่สำคัญคือ NFT ใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าไม่ได้ อีกทั้งต้องซื้อ-ขาย NFT แบบเต็มหน่วยเท่านั้น
การทำเงินของ NFT
หากเราสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ คลิปวิดีโอ ของสะสม เสื้อผ้า แสตมป์ การ์ดเกม ฯลฯ ที่ถือเป็นของชิ้นเดียวในโลก เป็นลิขสิทธิ์ของเราเอง ก็สามารถแปลงผลงานเหล่านั้นให้อยู่บนออนไลน์ในรูปแบบโทเคน NFT จากนั้นนำ NFT ไปขายต่อและโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง เพราะทำผ่านระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ทุกธุรกรรมสามารถตรวจสอบได้ และแทบจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลไม่ได้เลย และแม้ว่าผลงานจะถูกขายต่อ เปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีใครเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลงานชิ้นนี้มาแล้วบ้าง นอกจากนี้เรายังสามารถนำ NFT ออกประมูลได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแรร์ไอเทมก็จะดึงดูดให้คนอยากได้และต้องสู้ราคากัน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลอีกหลายเท่า ใครชนะการประมูลก็จะได้รับโทเคนในการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชิ้นนั้น ด้วยเหตุนี้ คนที่ซื้อ-ขายงาน NFT จึงไม่ได้มีแค่ศิลปินหรือนักสะสม แต่ยังมีนักลงทุนหลายคนที่ตั้งใจเข้ามาซื้อเก็งกำไร แล้วนำไปขายต่อให้ผู้ที่สนใจได้ในราคาสูงขึ้น เนื่องจากงาน NFT หลายชิ้น เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ หรือของหายากที่มีคุณค่าและมูลค่าสูงในกลุ่มนักสะสม
วิธีการซื้อขาย NFT
เพราะเป็นช่องทางสร้างรายได้ในยุคดิจิทัลที่น่าสนใจ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นนักลงทุน นักสะสม คนดังในแวดวงต่าง ๆ ทั่วโลก นำผลงานออกมาซื้อ-ขาย ประมูลผ่าน NFT ว่าแล้วก็ลองมาดูขั้นตอนการซื้อ-ขายคร่าว ๆ คือ สร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เปิดบัญชีซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซี ซื้อเหรียญ ETH แล้วโอนไปไว้ใน Wallet เตรียมผลงาน NFT และ อัปโหลดผลงานใน NFT Marketplace โดย NFT Marketplace หรือตลาดซื้อ-ขายงาน NFT มีอยู่หลายเว็บไซต์ ที่ดังในหมู่นักสะสมก็คือ OpenSea, Rarible, Foundation.app, SuperRare ฯลฯ
แม้ NFT จะได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่ได้อนุญาตให้ซื้อ-ขายได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้ง Meme Token เหรียญที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับ ราคาจะขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล Fan Token เป็นเหรียญที่จะได้รับเมื่อติดตามและร่วมกิจกรรมของเหล่าคนดัง อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ทั้งหลาย และสามารถนำเหรียญไปใช้แลกซื้อหรือประมูลของสะสมในรูปแบบ NFT และอื่น ๆ ได้ Non-Fungible Token : NFT เหรียญที่แสดงสิทธิ์ในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง และไม่สามารถใช้เหรียญประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ เหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อ-ขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อ-ขาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (Blockchain) ด้วยกระแส NFT ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ที่ในอนาคต ก.ล.ต. อาจพิจารณาไฟเขียวในเรื่องนี้ โดยมีการออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลเพิ่มเติม ซึ่งก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไป