เป้าหมายการเงิน (Financial Goal) คือ ตัวกำหนดทิศทางที่สำคัญในการสร้างแผนปฎิบัติทางการเงิน (Financial Action Plan) ที่เราจะต้องลงมือทำ การจะประสบความสำเร็จทางการเงินได้นั้น เราต้องมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนและมีความสอดคล้องกัน ทุกคนล้วนมีความฝันหรือสิ่งที่ต้องการมากมาย อยากจะให้ฝันของเราเป็นจริงสักวัน บางคนอยากมีบ้าน มีรถ เป็นของตัวเอง และเชื่อว่าความฝันของหลาย ๆ คน อีกอย่างก็คือ ความสุขสบายเมื่อยามถึงวัยเกษียณ Za.in.th จึงขอเสนอหลักแนวคิดในการตั้งเป้าหมายทางการเงินแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า “SMART”
Specific (ชัดเจน)
การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดี สิ่งแรกที่เราต้องมีคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เราอยากมีบ้าน อยากมีรถไว้ประกอบอาชีพ หรืออยากเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกของเรา เป็นต้น เราต้องกำหนดเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมและชัดเจน
Measurable (วัดผลได้)
แน่นอนว่าเมื่อเราฝันที่อยากจะมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เราจะต้องรู้ว่าของสิ่งนั้นมีมูลค่าเป็นตัวเงินที่เราต้องใช้มากน้อยเท่าไร เช่น เราอยากมีบ้านที่ราคาเท่าไร อยากซื้อรถที่ราคาไร หรืออยากเก็บเงินก้อนให้ได้เท่าไร เพื่อให้เป้าหมายการเงินของเราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดมากขึ้น
Achievable (ทำสำเร็จได้)
เราต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ทั้งนี้ความสำเร็จของเป้าหมายจะเกิดขึ้นได้ ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น หากเราอยากมีเงินเก็บภายในสิ้นปี 60,000 บาท แสดงว่าเราจะต้องเก็บเงินอย่างน้อยให้ได้เดือนล่ะ 5,000 บาท ให้ครบ 12 เดือน โดยการแบ่งเก็บจากส่วนหนึ่งของเงินเดือน อย่างนี้เป็นต้น
Realistic (สามารถบรรลุผลได้)
เป้าหมายการเงินของเราต้องมีความสมเหตุสมผล ภายใต้สถานะทางการเงินและข้อจำกัดต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน โดยไม่เป็นการบีบบังคับตัวเองมากจนเกินไป หรือทำให้ต้องมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของเรา จนเกิดเป็นความ ทุกข์ใจ เช่น อยากมีรถคันใหม่ จึงต้องหารายได้เพิ่มอีก 2-3 เท่า โดยต้องทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งอาจส่งผลเสียให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และไม่สามารถทำงานหาเงินได้ในที่สุด
Time-bound (กำหนดเวลาชัดเจนที่แน่นอน)
เพื่อไม่ให้เป้าหมายการเงินของเราต้องเลื่อนลอยออกไปอย่างไม่มีกำหนด เราควรใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของเรา เช่น เราอยากมีบ้านราคาเท่าไรภายในระยะเวลากี่ปี หรืออยากมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอายุเท่าไร ภายในระยะเวลาเท่าใด หากเราไม่กำหนดระยะเวลาในเป้าหมายของเรา จะทำให้การวางแผนการเก็บเงินในขั้นตอนอื่น ๆ ไม่มีความแน่นอน และอาจจะทำให้เป้าหมายของเราล้มเหลวได้
โดยทั้งนี้ เป้าหมายทางการเงินสามารถเราต้องมีการวางแผนอย่างน้อย 3 ระยะ ทั้ง เป้าหมายระยะสั้น (Short-term Goal) คือเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จใน 1 ปี เช่น ต้องการออมเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ราคา 15,000 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เป้าหมายระยะกลาง (Intermediate-term Goal) ที่ต้องการทำให้สำเร็จใน 2-5 ปี เช่น ต้องการออมเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทในอีก 2 ปีข้างหน้า เป้าหมายระยะยาว (Long-term Goal) ที่ต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี เช่น ต้องการออมเงินจำนวน 10 ล้านบาทเพื่อใช้ในวัยเกษียณอีก 25 ปีข้างหน้า