วางแผนจัดการเงิน คุมการใช้จ่าย เพื่อความมั่นคงทางการเงิน

1 Min Read

ถ้าคุณอยากจะหลุดพ้นช่วงชีวิตที่ต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือบางทีต้องขาดสนในบางเดือน นำไปสู่การสร้างหนี้ คุณต้องหันมาปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิต เพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า Za.in.th จึงรวบรวมเทคนิคการจัดการเงินในกระเป๋าของคุณด้วยวิธี ควบคุมค่าใช้จ่าย จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้เองจนมีเงินเหลือเก็บ ซึ่งแต่ละข้อล้วนเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราต่างมองข้าม และไม่เคยให้ความสำคัญ แต่ถ้าหากคุณทำตามได้ทุกข้อ รับรองว่าคุณจะมีอนาคตที่ดีขึ้นจนตัวคุณเองก็อาจจะประหลาดใจ

จัดทำบัญชีจดบันทึกค่าใช้จ่าย เทียบกับรายได้ รายได้คนส่วนใหญ่จะจำกัด เพราะเป็นรายได้ประจำเดือน มีรายได้ที่แน่นอน แต่รายจ่ายอาจไม่แน่นอน ถ้าเราไม่จดบันทึก ไม่มีการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้มีการใช้เกินตัว จึงควรต้องมีการจดบันทึกค่าใช้จ่าย มีการทำบัญชีแยกประเภทค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนชำระรถ/บ้าน ค่าการประกันภัย/ชีวิต ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และยังมีรายจ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าสันทนาการ ค่าเดินทางท่องเที่ยว และลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทเทียบกับรายได้ และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ไม่ควรเกิน 70% ของรายได้

ลดภาษี เพิ่มรายได้ บางคนที่มีรายได้สูง ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นด้วย ภาษีจึงเป็นรายจ่ายในสัดส่วนที่มาก จึงควรนำเงินลงทุนในกองทุนรวมประเภทที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี และสามารถวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF หรือกองทุน SSF (Super Saving Funds) เพราะเป็นกองทุนรวมที่นำไปลดหย่อนภาษีและเพิ่มช่องทางในการออมในระยะยาวได้อีกด้วย

กำหนดค่าใช้จ่ายต่อวัน เมื่อคุณวางแผนค่าใช้จ่าย และจัดการจ่ายเงินในส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ให้มาดูรายได้ส่วนที่เหลือกันบ้าง แล้วกำหนดว่าคุณจะใช้เงินเป็น รายวัน, รายสัปดาห์, รายสิบวัน เลือกมาแบบใดแบบหนึ่ง แล้วหารจำนวนเงินนั้นตามส่วน เช่น ถ้าคุณเหลือเงินอยู่ 10,000 บาท และต้องการแบ่งเงินใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ ให้เอาจำนวนเงินมาหารด้วย 4 แล้วจะได้ผลลัพท์คือ 2,500 บาท/1 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น ใน1 สัปดาห์ คุณจะใช้เงินอย่างไรก็ได้ ที่ไม่เกินจากเงินจำนวนนี้

คิดก่อนซื้อ อย่าผ่อนเกินกำลัง การซื้อสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บ้านหรือรถยนต์ ส่วนใหญ่เราก็จะใช้หลักการผ่อนชำระเป็นรายงวด ทำให้เกิดภาระผูกพันกับเราไปเป็นเวลานาน ดังนั้นเราจึงต้องคิดให้มากก่อนซื้อ เมื่อเราตัดสินใจซื้อ ต้องไม่ให้เกิดภาระผ่อนชำระเงินเกินตัว โดยหลักการซื้อบ้าน ราคาบ้านที่จะซื้อไม่ควรเกิน 30 เท่าของรายได้ต่อเดือนของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านต่อเดือนก็ไม่ควรเกิน 25-30% ของรายได้ต่อเดือน ผ่อนรถยนต์ไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ต่อเดือน

การเก็บออมระยะยาว เป็นการออมโดยการนำเงินไปลงทุนทุกๆ เดือนหรือทุกๆ ปี เพื่อวัตถุประสงค์ระยะยาว เช่น เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อการเกษียณ (อาจใช้ร่วมกับการออมเพื่อลดหย่อนภาษี RMF ได้) เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและต้องให้ได้มากกว่าเงินเฟ้อในระยะยาว ในการวางแผนออมเพื่อเกษียณ ควรออมอย่างน้อย 10% ของรายได้

งดใช้บัตรเครดิต ถ้าไม่จำเป็น บัตรเครดิต ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกความต้องการของชีวิตตามที่คุณเข้าใจ แต่มันคือกลลวงรูปแบบหนึ่ง ที่คาดหวังดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคุณ โดยการนำของสมนาคุณหรือส่วนลดต่างๆมาหลอกล่อ ดังนั้นคุณจึงควรจัดบัตรเครดิตไว้ในอันดับท้ายๆ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรหยิบมันออกมาใช้จ่ายโดยเด็ดขาด ทางที่ดีแนะนำว่าไม่ควรสมัครบัตรเครดิตตั้งแต่ต้น เพราะถึงแม้จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคุณได้จริงแต่นั่นก็เป็นดั่งดาบสองคมที่พร้อมจะทำร้ายคุณได้เหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่