การออมและลงทุนเพื่อการเกษียณเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อสร้างอนาคตที่มั่งคั่งและสะดวกสบายในช่วงบั้นปลายชีวิต ก็ถือได้ว่าเป็นเงินออมเพื่อยามเกษียณอีกช่องทางหนึ่ง ทั่วไปแล้วนักลงทุนมักนิยมออมเพื่อการเกษียณผ่านลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีปัจจุบันและมีเงินใช้ในอนาคตเมื่อแก่เฒ่าไปพร้อมกัน ผู้ออมเงินที่เป็นสมาชิกประกันสังคนหรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้ประกันตน ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่ท่านอาจมีแต่ยังไม่รู้ตัว ที่เรียกกันว่า “กองทุนชราภาพ”
กองทุนประกันสังคม ของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ในที่นี้เรียกว่า “ผู้ประกันตน” โดยมีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดูแลและบริหารเงินของกองทุนเพื่อให้เกิดดอกผล และนำไปจ่ายให้แก่ผู้ประกันตน
ความคุ้มครองภายใต้กองทุนประกันสังคมแบ่งเป็น 7 ประเภท คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีการว่างงาน ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมเฉพาะกรณีชราภาพถือได้ว่าเป็นการออมเพื่อเกษียณอายุ
รูปแบบกองทุน
กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนระบบ defined benefit ซึ่งหมายถึงกองทุนที่กำหนดประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนจะได้รับไว้แน่นอนตายตัวโดยไม่ผันแปรไปตามจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุน โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม (ยกเว้นบุคคลประเภทที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ครูโรงเรียนเอกชน ฯลฯ) สำหรับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนจะประกอบด้วยเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้างซึ่งจ่ายฝ่ายละเท่าๆ กัน และรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างจะหักเงินสมทบจากค่าจ้าง และนำส่งเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างเองให้แก่สำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วันของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้
ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. บำเหน็จชราภาพ เป็นเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวด้วยเหตุที่ผู้ประกันตนชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิคือ
ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วน้อยกว่า 180 เดือน
ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และ
มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
โดยผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบต่ำกว่า 12 เดือนจะได้รับบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ และหากเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนตามจำนวนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดเพิ่มเติมอีกด้วย
2. บำนาญชราภาพ เป็นเงินเลี้ยงชีพรายเดือนตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิคือ
ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน
ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และ
มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
โดยจะได้รับบำนาญชราภาพในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยฐานเงินเดือนต้องไม่น้อยกว่า 1,650 บาทและไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ อัตราการจ่ายบำนาญชราภาพจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อทุก 1 ปีที่มีระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน เช่น จ่ายสมทบครบ 180 เดือนเมื่ออายุ 50 ปี ทำงานต่อไปอีก 10 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ของค่าจ้างเป็นร้อยละ 30 ของค่าจ้าง
สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคมจะได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42(25) แห่งประมวลรัษฎากร จะเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากกองทุนประกันสังคมจะมีจำนวนที่น้อยมาก จนไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตหลังเกษียณได้ ดังนั้น หากผู้ประกันตนต้องการมีคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่มีมาตรฐานเท่ากับสมัยทำงานผู้ประกันตนจำเป็นต้องออมเพิ่มเติมผ่านช่องทางการออมแบบอื่นๆด้วย เช่น ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ