อยากที่เราทราบกันดีว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยในปี 2040 กว่า 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเกิด 6 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 1960 มาอยู่ที่ราวๆ 1.5 ในปัจจุบัน และยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น อัตราการเกิดไม่ถึง 2 แปลได้ตรงตัวนะครับ ว่าประชากรของไทยจะหดตัวลงในอนาคตอันใกล้นี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคต คือ รายได้ที่จะใช้ในวันที่ไม่สามารถทำงานหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงสุขภาพที่ถดถอยและต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการรักษาตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคเรื้อรังและอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้ายของชีวิต
ถ้าอยู่ในระบบราชการที่มีบำนาญให้เบิกค่ารักษาพยาบาลก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่มีลูกหลานคอยดูแล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี กระทรวงการคลังจึงเสนอให้มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage Loan) วิธีการ คือ ผู้กู้สามารถใช้บ้านและที่ดินที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้กับสถาบันการเงินและได้รับเงินเป็นงวดๆ หรือการแปลงมูลค่าบ้านและที่ดินเป็นเงินสด โดยที่ไม่ต้องย้ายออกมาจนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิต โดยสถาบันการเงินจะเรียกทายาทโดยธรรมมาทำการไถ่ถอนคืนหรือจะให้ทางสถาบันการเงินขายแทนการชำระหนี้เงินกู้ที่ได้รับ
ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นสถาบันการเงินที่เปิดให้สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุเพื่อการเกษียณการมีสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุเพื่อการเกษียณ เป็นตัวเลือกที่ทำให้ผู้เกษียณอายุสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ และมีเงินเพียงพอเพื่อดำรงชีวิต
สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ธนาคาออมสิน
คุณสมบัติ
1. เป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี และต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
2.กรณีไม่มีคุ่สมรส ผู้กู้ต้องมีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันแต่เพียงผู้เดียว
กรณีมีคู่สมรส กรรมสิทธิ์ในหลักประกันจะต้องเป็นของผู้กู้และคู่สมรสเท่านั้น โดยคู่สมรสต้องเข้ามาเป็นผู้กู้ร่วม และคู่สมรสต้องมีคุณสมบัติตาม 1. ทั้งนี้ ไม่มีกรณีการกู้ร่วมกับบุคคลอื่น ต้องสามารถรับภาระค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อกับธนาคารได้
จำนวนเงินกู้
ให้กู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
ที่ดินพร้อมอาคาร
กรณีตั้งอยู่ในโครงการจัดสรรตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน ให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินหลักทรัพย์
กรณีไม่ได้ตั้งอยู่ในโครงการจัดสรรตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน มีเงื่อนไข ดังนี้
1. ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา) เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินหลักทรัพย์
2. นอกเหนือจากพื้นที่ตาม 1 ไม่เกินร้อยละ 60 ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ห้องชุด
ให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของราคาประเมินหลักทรัพย์
ทั้งนี้ จำนวนเงินให้กู้ หมายถึง เงินต้นรวมดอกเบี้ย และรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ค่าจดจำนอง และค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
หลักประกัน
ที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดซึ่งปลอดภาระหนี้เพียงแห่งเดียว โดยต้องเป็นที่อยู่อาศัยหลักของผู้กู้และคู่สมรส (ผู้กู้ร่วม) และต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตลอดอายุสัญญากู้เงิน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
กรณีหลักประกันเป็นห้องชุด ต้องเป็นห้องชุดในอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด และต้องมีราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท
ต้องตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ มีสภาพคล่องสูง อยู่ในแหล่งชุมชนที่มีความเจริญ มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น มีทางสาธารณประโยชน์ซึ่งรถยนต์ผ่านเข้า – ออกได้สะดวก
ทั้งนี้ หลักประกันต้องไม่เป็นที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา
ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ และการจ่ายเงินกู้
สูงสุดไม่เกิน 25 ปี โดยต้องเท่ากับระยะเวลาที่เหลือของอายุผู้กู้ที่รวมกับระยะเวลาการจ่ายเงินกู้แล้วผู้กู้ต้องมีอายุไม่เกิน 85 ปี กรณีมีผู้กู้ร่วมให้นับระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตามอายุของผู้กู้ที่มีอายุน้อยที่สุดเพียงคนเดียว (ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ = 85 – อายุผู้กู้)
ธนาคารจ่ายเงินกู้เป็นรายเดือน โดยจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกของผู้กู้และผู้กู้ร่วม (ถ้ามี) ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงิน ภายในวันที่ธนาคารกำหนดของทุกเดือน และหากผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารจะหยุดจ่ายเงินกู้ ยกเว้น กรณีมีการกู้ร่วม หากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตก่อน ธนาคารจะจ่ายเงินกู้ให้ผู้กู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิต
กรณีธนาคารจ่ายเงินต้นรวมดอกเบี้ยและ / หรือค่าใช้จ่ายอื่น (ถ้ามี) ครบวงเงินกู้ตามสัญญาแล้วผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ ธนาคารจะหยุดจ่ายให้กับผู้กู้และคิดดอกเบี้ยกับผู้กู้ต่อไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้ปิดบัญชี
กรณีผู้กู้มีความประสงค์ขอกู้เพิ่มเติม ให้ประเมินราคาหลักประกันใหม่ หากราคาประเมินเพิ่มสูงขึ้นและคุ้มมูลหนี้เดิม ให้พิจารณาให้กู้ ดังนี้
1. ไม่นำหลักเกณฑ์เงื่อนไขในส่วนของวงเงินให้กู้สูงสุดต่อราย อายุผู้กู้และระยะเวลาให้กู้มาพิจารณา โดยจ่ายเงินกู้เป็นรายเดือนให้กับผู้กู้ในจำนวนเท่าเดิม
2. จำนวนเงินที่ขอกู้เพิ่มเติมเมื่อรวมกับมูลหนี้เดิมแล้วต้องไม่เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด
3. ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ครั้งละไม่เกิน 5 ปี หากมีการขอกู้เพิ่มเติมในครั้งต่อไปอีก ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้
สถานที่ยื่นกู้
ธนาคารออมสินสาขาที่หลักประกันตั้งอยู่