การวางแผนการเงินส่วนบุคคลในอีกความหมายหนึ่งมักจะถูกเรียกว่า การบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า เวลาพูดถึงความมั่งคั่ง จะถูกมองเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าคนจนคนรวยก็ควรได้รับความรู้เรื่องนี้ เพียงแต่คนจนต้องผ่านขั้นตอนบางอย่างโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง ส่วนคนที่มีฐานะอยู่แล้วก็ต้องเรียนรู้หลักของการปกป้องความมั่งคั่ง ต่อยอดความมั่งคั่ง และการกระจายความมั่งคั่งไปยังลูกหลานหรือสังคมต่อไป
รู้หา : How to earn
รู้วิธีใช้ความสามารถของตน (human assets) ในการหารายได้ การได้เงินเดือนจากการทำงานของเราเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ยิ่งการงานประสบความสำเร็จก็จะมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถที่จะออมมีมากขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานอย่างดีของการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้น ช่องทางของการรู้หาไม่ได้มีเฉพาะการเป็นลูกจ้าง แต่การเลือกนำเงินทุนและแรงงานของเราไปลงทุนเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ก็ทำให้มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ซึ่งเป็นรากฐานของการออมเพื่อความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี
รู้เก็บ : How to save
การแบ่งรายได้มาเพื่อออมทันทีเป็นการสร้างวินัยทางการเงินเพื่อให้ฐานของเงินออมขยายตัวเพิ่ม รองรับการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และเงินออมควรแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์ของการออม ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
รู้ใช้ : How to spend
การใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นหลักคิดสำคัญ เพื่อให้รายได้ที่คงเหลือเป็นเงินออมมีเพียงพอที่จะใช้ขยายฐาน สร้างความมั่งคั่งในวันข้างหน้า
รู้ขยายดอกผล : How to invest
แนวคิดออมดีกว่าไม่ออม และออมก่อนรวยกว่า ยังไม่พอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ เราจะต้องเรียนรู้ว่าเงินออมของเรามีทางเลือกอะไรบ้างที่จะนำไปขยายผลให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ไม่ใช่ฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว
ถ้าเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน การมีทรัพย์สินมากๆ ก็สามารถเป็นฐานของการสร้างความมั่งคั่งได้ คนที่มีทรัพย์สินมากก็มีโอกาสมีอิสรภาพทางการเงินได้มาก อย่างไรก็ดีต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีภาระหนี้สินด้วยก็จะดี เพราะบางครั้งการได้มาของทรัพย์สินเราบางครั้งก็มีหนี้สินตามมาด้วย การจะวัดความมั่งคั่งของบุคคลจึงดูจากมูลค่าทรัพย์สินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งแสดงได้ดังนี้