AH กำไรสุทธิงวด 4Q19 ที่ขาดทุนกว่า 700 ลบ. สาเหตุหลักเกิดจากการบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ SGAH เข้ามา หลังจากบริษัทดังกล่าวมีปัญหาในการชำระหนี้และทาง AH ใช้สิทธิเข้าไปถือหุ้นทั้ง 100% และมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามา แบ่งเป็นสำรองผลขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมเข้ามา 564 ลบ. และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทลูกในสหรัฐเข้ามาอีก 480 ลบ. ส่วนรายการพิเศษอื่นๆมีด้อยค่าเงินลงทุนเข้ามา 11 ลบ. ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 58 ลบ. ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษ AH จะมีกำไรปกติประมาณ 399 ลบ. (+45%YoY,+435%QoQ)
รายได้อยู่ที่ 5,228 ลบ. (+22%YoY,+21%QoQ) หลังจากรับรู้รายได้จากบริษัทที่โปรตุเกสเข้ามากว่า 827 ลบ. และการรับรู้รายได้จากชิ้นส่วนให้ Winfast อีกประมาณ 380 ลบ. ซึ่งมาชดเชยกับการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 11% ดีขึ้นจาก 10% ใน 4Q18 และ 9% ใน 3Q19 เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากกำไรขั้นต้นของบริษัทที่โปรตุเกสดีกว่าบริษัทในไทย และกำไรขั้นต้นของงานที่ส่งให้ Winfast อยู่ในระดับสูงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 370 ลบ. (+56%YoY,+59%QoQ)
ด้านรายการอื่นๆ ในส่วนของดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 75 ลบ. ลดลงจาก 118 ลบ. ใน 4Q18 (3Q19 ไม่มีรายได้ดังกล่าว) รายได้อื่น 161 ลบ. (+22%YoY,+20%QoQ) ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน 151 ลบ. พลิกจากที่รับรู้ขาดทุน 154 ลบ. ใน 4Q18 และ 74 ลบ. ใน 3Q19 หลังจากเข้าถือหุ้นใน Sakthi Auto Component Limited ที่ประเทศอินเดีย ผ่าน SGAH ในสัดส่วน 77% ที่รับรู้กำไรเข้ามากว่า 124 ลบ. ดอกเบี้ยจ่าย 94 ลบ. (+ 66%YoY,+30%QoQ) เพราะรับรู้ภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทย่อยใหม่ที่เข้าไปถือหุ้น รวมแล้วทั้งปี 19 AH มีรายได้ 18,389 ลบ. (+10%YoY) และมีผลขาดทุนสุทธิ 181 ลบ. แต่หากไม่รวมรายการพิเศษจะมีกำไรประมาณ 1,027 ลบ. (-22%YoY)
ผลประกอบการที่ออกมาหากไม่รวมรายการพิเศษถือว่าออกมาดีกว่าที่เคยคาดไว้ เนื่องจากได้รับผลดีจากการรับรู้รายได้จากโปรตุเกสเข้ามาซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่มีอัตรากำไรสูงกว่าที่ AH ทำได้ (แต่ถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขายที่อยู่ในระดับสูง) รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทที่อินเดียเข้ามาเพิ่ม (แต่ตัวเลขดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากเป็นการบันทึกเข้ามาจากการอ้างอิงข้อมูลทางการเงินภายในยังไม่ใช่ข้อมูลที่ผ่านมาตรวจสอบที่แน่นอนจากทางผู้สอบบัญชี ทำให้อาจจะมีการปรับปรุงใหม่ภายหลัง) ส่วนปี 20 เบื้องต้นเราปรับประมาณการใหม่หลังจากแนวโน้มอุตสาหกรรมในประเทศยังเห็นการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจาก COVID-19 คาดว่าลูกค้าในกลุ่ม AAT เริ่มมีปัญหาโดยปัจจุบันคำสั่งซื้อมีถึงเดือน เม.ย.หลังจากนั้นต้องรอดูทิศทางอีกครั้ง โดยเรามีการประเมินรายได้อยู่ที่ 19,616 ลบ. (+7%YoY จากการรับรู้รายได้จากบริษัทที่โปรตุเกสเข้ามา) และประเมินกำไรสุทธิได้ใหม่ที่ 746 ลบ. (ลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 814 ลบ.)
สำหรับคำแนะนำการลงทุน AH ราคาหุ้นตอบรับกับผลประกอบการที่ออกมาขาดทุนไปมากแล้ว แต่หากพิจารณาถึงรายละเอียดจะพบว่าถ้าไม่นับรายการพิเศษผลประกอบการจะมีกำไรที่ดีกว่าคาด อย่างไรตามด้วยอุตสาหกรรมที่ไม่สดใสนัก เราจึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ระยะสั้นๆเท่านั้น และประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 16.20 บาท (7XPER’20E)