การซื้อขายหลักทรัพย์หรือซื้อขายหุ้นนั้น นักลงทุนต้องมีบัญชีหลักทรัพย์สำหรับการซื้อขายที่เปิดกับโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันบัญชีซื้อขายหุ้นนี้ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ที่แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันประกอบด้วย บัญชีวางเงินล่วงหน้า (Cash Balance), บัญชีเงินสด (Cash Account) และบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Account) หรือ บัญชีมาร์จิ้น
1. บัญชีวางเงินล่วงหน้า (Cash Balance) หรือซื้อหุ้นได้เท่ากับเงินที่มีในบัญชี
เป็นบัญชีที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ เพราะมีหลักการตรงไปตรงมาครับ นั่นก็คือ มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ ก็ใช้ซื้อหุ้นได้เท่านั้น นอกจากจะเข้าใจง่ายแล้ว อีกหนึ่งข้อดี คือ เป็นการจำกัดวงเงินการซื้อหุ้นของเราด้วยจำนวนเงินที่เรามีในบัญชีหุ้นนั่นเอง หากต้องการซื้อหุ้นด้วยมูลค่ามากกว่าเงินที่มีในบัญชี เราต้องโอนเงินเข้าบัญชีก่อนส่งคำสั่งซื้อหุ้น เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ สามารถเปิดบัญชีได้ง่าย อนุมัติไว ไม่ต้องใช้ statement ย้อนหลัง และไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ (กรณีซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต และสมัครใช้บริการ E-request)
2. บัญชีเงินสด (Cash Account) ที่สามารถสั่งซื้อหลักทรัพย์ได้ก่อน และค่อยจ่ายเงินทีหลัง
สำหรับบัญชี Cash Account โบรกเกอร์จะพิจารณาวงเงินในการเทรดหุ้นจากหลักฐานทางการเงินของผู้ขอเปิดบัญชี ซึ่งก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อหุ้นได้ นักลงทุนจะต้องวางเงินประกัน 20% ของวงเงินที่ต้องการจะเทรด หรืออาจจะวางเงิน 20% ของวงเงินอนุมัติ เช่น ได้รับวงเงินอนุมัติ 100,000 บาท เราต้องวางเงินประกัน 20,000 บาท และเมื่อเมื่อสั่งซื้อหุ้นเราต้องโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระค่าหุ้นภายในวันที่ T+3 ลักษณะคล้าย ๆ กับบัตรเครดิต คือ สั่งซื้อได้ก่อน แล้วโอนเงินชำระค่าหุ้นภายในเวลาที่กำหนด เหมาะสำหรับ นักลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องในการวางหลักประกัน โดยวางหลักประกัน 20% ของวงเงิน และชำระเงินค่าหุ้นอีก 2 วันทำการถัดไป
3. บัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Account) หรือบัญชีมาร์จิ้นที่สามารถยืมเงินโบรกเกอร์มาซื้อหุ้น
บัญชี Credit Balance เหมาะกับนักลงทุนระดับ Advance ครับ เป็นบัญชีที่นักลงทุนสามารถกู้ยืมเงินของโบรกเกอร์มาซื้อหุ้น ซึ่งหุ้นที่จะซื้อได้ต้องอยู่ในรายชื่อหุ้นที่บริษัทฯ กำหนดไว้เท่านั้นครับ แต่หากนักลงทุนต้องการซื้อหุ้นตัวอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ก็ทำได้เช่นกัน แต่จะต้องซื้อขายผ่านบัญชีเงินสดแทน และด้วยความที่เป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม ทางโบรกเกอร์จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการซื้อขายของบัญชีประเภทนี้มากกว่าบัญชีประเภทอื่น ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระจากนักลงทุน บัญชี Credit Balance มีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ข้อดี คือ เป็นการเพิ่มอำนาจในการลงทุน หรือทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้มากกว่าเงินลงทุนที่มีนั่นเองครับ โดยทั่วไปแล้ว ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย หรือค่า Commission ของแต่ละบัญชีจะไม่เท่ากัน รวมถึงบัญชีของแต่ละโบรกเกอร์อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันด้วย นักลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกเปิดบัญชีครับ จะเห็นได้ว่า เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มอำนาจซื้อหุ้น โดยใช้เงินหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันร่วมกับการกู้ยืมเงินจากบริษัทฯ นักลงทุนที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี หรือลูกค้าเดิม ที่มีบัญชีประเภท Cash Balance หรือ Cash Collateral โดยมีการซื้อขายมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
แต่ละบัญชีต่างมีข้อดี ข้อด้อยที่ต่างกันไป การเลือกบัญชีควรขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และที่สำคัญ คือ นักลงทุนต้องมีความรู้ ความเข้าใจในบัญชีที่จะเลือกใช้