ก.ล.ต. อนุมัติแล้ว 17 กองทุน SSF มาเตรียมส่องข้อดีข้อเสีย SSF ก่อนการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี

1 Min Read

จากข่าวของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีการเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ออกเกณฑ์รองรับการจัดตั้ง SSF เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 และเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถเสนอขายกองทุนดังกล่าวให้ผู้ลงทุนที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว ก.ล.ต. จึงได้เปิดให้มีการอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แบบอัตโนมัติ (auto-approval) สำหรับ SSF ที่ไม่ได้มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 4 มีนาคม 2563 ก.ล.ต. ได้อนุมัติ SSF ไปแล้ว 17 กองทุน  ทั้งนี้ หลังจากที่กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SSF และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียด ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามลำดับแล้ว ในส่วนของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะเตรียมจัดทำประกาศเกี่ยวกับระบบในการขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ในลำดับถัดไป เพื่อให้ บลจ. มีระบบงานที่เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

นักลงทุนก็เตรียมตัวกันเลย เพราะ SSF ที่มาแทน LTF จุดเด่นที่สำคัญเลยก็คือ ประโยชน์ทางด้านการลดหย่อนภาษี โดย SSF หรือ Super Saving Fund กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ตรงๆ ตามชื่อเต็มของมันนั่นแหละ สามารถนำเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้เหมือน LTF โดยมีเงื่อนไขดังนี้คือ
– ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
– ลงทุนในหลักทรัพย์อะไรก็ได้
– ไม่มีขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
– “ต้องถือ 10 ปี” โดยเป็นสิบปี วันชนวัน เต็มๆ เน้นๆ

ข้อดีของ SSF เมื่อเทียบกับ LTF
ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ต่างจาก LTF ที่กำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไทย 65% ซึ่งจุดนี้เป็นการปลดล็อคให้ SSF สามารถกระจายความเสี่ยง และมีความคล่องตัวได้ดีกว่า รวมถึงนักลงทุนที่จะมีตัวเลือกหลากหลายขึ้น สำหรับการวางแผนการเงินให้เหมาะกับตัวเอง

และการที่ SSF ให้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ เทียบกับ LTF ที่ให้ 15% ของเงินได้ ทำให้กลุ่มรายได้ปานกลางสามารถซื้อได้เต็มเงื่อนไขง่ายขึ้น เพราะเพดานใช้สิทธิ์เต็มพิกัดของรายได้จะลดลงมาเหลือประมาณ 6 แสนบาท จากเดิมที่ต้องมีรายได้ต่อปีสูงถึง 3.3 ล้านบาทถึงจะใช้สิทธิ์ได้เต็มพิกัด

ข้อเสียของ SSF เมื่อเทียบกับ LTF
ต้องถือนานขึ้นเป็น 10 ปี ลดวงเงินซื้อสูงสุดเหลือ 2 แสนบาท วงเงินสูงสุดถูกนำไปรวมกับ RMF เม็ดเงินในตลาดหุ้นไทยหายไปไม่มากก็น้อย

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่