การซื้อหุ้นคืน หรือ Treasury-Stock การที่บริษัทนำเงินสดของกิจการไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น ผลในทางบัญชีคือ ฝั่งสินทรัพย์จะมีเงินสดลดลงจากการนำเงินไปซื้อหุ้นและฝั่งส่วนของทุนจะลดลงจากรายการหุ้นทุนซื้อคืน Treasury-Stock ถือได้ว่าเป็นมาตรการหนึ่งในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นทั้ง บริษัทมหาชน และบริษัทจำกัด มักจะทำกัน โดยส่วนมากบริษัทก็จะมาซื้อคืนกันในตลาดซื้อขาย และรายงานในหน้าข่าวของตลาดหลักทรัพย์ทุกวัน ผู้ถือหุ้นที่ไม่อยากถือหุ้นก็ตั้งขายหุ้นให้บริษัทรับซื้อคืน ผู้ถือหุ้นก็จะได้เป็นเงินกลับมา
ข้อดีของการซื้อหุ้นคืน ( Treasury-Stock) คือ
– จำนวนหุ้นในช่วงที่มีการซื้อหุ้นคืนจะลดลง กำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น เมื่อกำไรต่อหุ้นมากขึ้นผู้ถือหุ้นก็ได้รับปันผลเพิ่มขึ้น
– กำไรเพิ่มราคาหุ้นควรจะเพิ่มและส่วนทุนลดลงทำให้ ROE เพิ่มขึ้น
– นักลงทุนสามารถมองได้ว่าผู้บริหารกำลังส่งสัญญาณว่าหุ้นบริษัทตัวเองถูกเกินไป
ข้อเสียของการซื้อหุ้นคืน ( Treasury-Stock) คือ
– เป็นการเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนโครงการอื่นๆ หรืออาจเป็นเพราะบริษัทไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนโครงการอะไรที่ทำให้ผลตอบแทนดีๆจึงนำเงินคืนให้ผู้ถือหุ้นนำเงินไปลงทุนเองในโครงการอื่น
– อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงเรื่องหนี้สินเพิ่ม
ข้อที่ควรระวังของการซื้อหุ้นคืน ( Treasury-Stock) คือ
ช่วงที่มีการซื้อหุ้นคืนราคาหุ้นควรจะเป็นขาขึ้นเนื่องจากมีเจ้ามือรายใหญ่คือบริษัทเอง นำเงินมาไล่ราคาหุ้น เมื่อบริษัทใช้เงินซื้อหุ้นคืนตามงบประมาณที่ตั้งไว้แล้ว ตอนนี้ราคาหุ้นจะขึ้นกับผลประกอบการ บางทีอาจจะมีกำไรลดลงซุกอยู่ก็ได้ สมมติซื้อหุ้นคืน 10% ของทุน กำไรต่อหุ้นจะเพิ่ม 10% แบบอัตโนมัติ ถ้างบออกมากำไรโตไม่ถึง 10% แสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทกำไรต่อหุ้นลดลง เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
ราคาที่บริษัทซื้ออาจสูงกว่ามูลค่าที่ควรเป็นก็ได้ อาจเกิดจากการเติบโตที่ค่อยๆ ลดลง หรือความเสี่ยงจากหนี้สิน ฯลฯ ถ้าบริษัทไปซื้อหุ้นที่ราคาแพงๆ เกินไป จะเป็นการทำลายมูลค่ากิจการมากกว่าเดิม หลังจากซื้อหุ้นคืนแล้ว ตามข้อกำหนดจะต้องมีการขายคืนในระยะไม่เกิน 3 ปี จากนั้นบริษัทมีทางเลือกสองทางคือ การขายคืนให้ตลาด หรือไม่ก็ลดทุนจดทะเบียนทิ้งไปเลย
การซื้อหุ้นคืนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นักลงทุนทุกคนจะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ ชั่งน้ำหนักดีๆ ว่าข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน