สถาบันวิจัยเศรษฐกิจดำเนินการศึกษาของ ที่อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น นานขึ้น “เป็นหนี้เร็วขึ้น” เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้กู้ช่วงอายุ 29 ปีเป็นหนี้เสีย “เป็นหนี้มากขึ้น” ปริมาณหนี้ต่อหัวสูงขึ้นถึง 552,499 บาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนไทยมีอัตราการออมเงินที่ลดลงในทุกๆ กลุ่มรายได้ โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านประชาชนไทยมมีการออมน้อย มีหนี้สูง และการเป็นหนี้นานเพิ่มขึ้นเป็นผลลัพธ์ที่มีความเชื่อมโยงกัน เพราะการออมน้อยทำให้ครัวเรือนเวลาจะกู้จำเป็นต้องกู้แบบเต็มมูลค่า และเมื่อมีหนี้สูง ผู้กู้จะเลือกผ่อนในระยะเวลานาน เพื่อกดไม่ให้ภาระผ่อนต่อเดือนสูงเกินไป ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเงินออมที่เก็บสะสม (stock of savings) และ/หรือเงินเหลือต่อเดือน (flow of savings) ของครัวเรือนนั้นมีน้อยเกินไป การผลักดันนโยบายด้านการออมของครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
“เป็นหนี้นานขึ้น” ภาระหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณ และ 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้กู้รายเดิม ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการมีหนี้หลายประเภทโดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลโดยหนี้ครัวเรือนเป็นสัญญาณของการก่อหนี้ภาคเอกชน ซึ่งสัญญาณเตือนของการก่อหนี้เกินตัว แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ดังนี้
1. ใช้จ่ายเกินตัว ถือเป็นสัญญาณเตือนแรกๆ ของคนไทยที่มีหนี้เกินตัว ไม่คำนึงถึงรายจ่ายที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็น ซื้อสินค้าตามแฟชั่นตามกระแส ซึ่งการซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว เป็นสัญญาณเตือนของการใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้น ก่อนซื้อควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากสินค้าและบริการชนิดนั้น รวมถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า และคำนึงถึงรายได้ของตัวเองด้วย
2. ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน ส่วนใหญ่มักจะมองข้าม เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินแต่กลับนำไปใช้ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุและต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก็อาจจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำให้เป็นภาระต่อการผ่อนชำระ ดังนั้น การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยแต่ละครอบครัวควรมีเงินก้อนนี้อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของรายจ่ายแต่ละเดือน
3. ใช้เงินในอนาคต การใช้เงินในอนาคตโดยไม่คำนึงถึงรายได้ เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการก่อหนี้เกินตัว โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหากไม่คำนึงถึงรายได้ก็จะเกิดการบริโภคที่เกินตัวและอาจทำให้มีปัญหาในการชำระหนี้ ดังนั้น หากคนไทยรับรู้ถึงสัญญาณ 3 ปัจจัยดังกล่าว เชื่อว่าการก่อหนี้เกินตัวจะไม่เกิดขึ้น และทำให้หนี้ลดลงอย่างแน่นอน