มารู้จักงบการเงิน ตอน งบดุล หรือ งบแสดงฐานะทางการเงิน

1 Min Read

การลงทุนให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว งบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ยังคงมองว่างบการเงิน เต็มไปด้วยตัวเลข ซับซ้อน ไม่รู้จะเริ่มต้นบรรทัดไหน อย่าพึ่งท้อ เพราะใช้เวลาไม่นานก็สามารถเข้าใจและมีเทคนิคในการอ่านงบการเงินอย่างง่ายและตัดสินใจได้ว่าบริษัทนั้นมีสุขภาพทางการเงินเป็นอย่างไร และน่าสนใจในการลงทุนหรือไม่

งบดุล หรือ งบแสดงฐานะทางการเงิน หมายถึงงบที่จะแสดงข้อมูลฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่งของรอบบัญชี โดยจะแสดง สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆของ งบแสดงฐานะทางการเงิน ได้จาก สมการ

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

สินทรัพย์

สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่กิจการครอบครองอยู่และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ซึ่งสินทรัพย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.สินทรัพย์หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว หรือสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลา 1 ปี
2.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการต้องถือไว้ยาวนานมากกว่า 1 ไม่ เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย เช่น ที่ดิน อาคาร เป็นต้น

สิ่งแรกที่ควรดูก็คือ รายการสินทรัพย์ โดยการแสดงสินทรัพย์จะเรียงตามสภาพคล่อง ดังนั้น เงินสดจะโชว์อยู่ในบรรทัดแรก เพราะมีสภาพคล่องสูงที่สุดและสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที นั่นหมายความว่า บริษัทต้องมีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในทันที หรืออาจเป็นเงินสดก็ได้ ข้อมูลด้านสินทรัพย์ ในเบื้องต้นจะทำให้รู้ถึงขนาดธุรกิจ การเติบโต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินลงทุนในสินทรัพย์

หนี้สิน

หนี้สิน หมายถึง ภาระผูกพันของกิจการในปัจจุบัน เป็นภาระที่จะส่งผลให้กิจการเสียผลประโยชน์ทางทรัพยากรที่มีประโยชน์ในอนาคต แต่หนี้สินบางประเภทก็มีผลดีกับกิจการเช่น หนี้สินการค้า เพราะเป็นหนี้สินระยะสั้นไม่มีดอกเบี้ย ส่งผลทำให้กิจการมีประแสเงินสดหมุนเวียนในกิจการมากขึ้น โดยหนี้สินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
1.หนี้สินหมุนเวียน หมายถึง หนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี
2.หนี้สินไม่หมุนเวียน หมายถึง หนี้สินระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในหารชำระมากกว่า 1 ปี

หนี้สินซึ่งหลักๆ ก็เป็นหนี้สินหมุนเวียนกับหนี้สินไม่หมุนเวียน โดยข้อมูลนี้จะทำให้เห็นสภาพคล่องทางด้านการเงิน เพราะบริษัทควรมีสินทรัพย์ เช่น เงินสดหรือลูกหนี้ มากกว่าหนี้สินระยะสั้น นั่นหมายความว่า เมื่อรวมสินทรัพย์กับรวมหนี้สินแล้ว ฝั่งสินทรัพย์ควรมีมากกว่า

ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของ หมายถึง ส่วนของเจ้าของกิจการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหักหนี้สินแล้ว ดูส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม ซึ่งบอกถึงเงินลงทุนตั้งแต่จัดตั้งรวมกับกำไรสุทธิที่เกิดจากการทำธุรกิจตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หากมีกำไรสะสมสูงแสดงถึงความสามารถในการทำธุรกิจดีมีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้ง ยังตรวจสอบถึงความมั่นคงของบริษัทได้อีกด้วย โดยผ่านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio)

D/E Ratio = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น

หากผลลัพธ์ D/E Ratio ออกมาสูง เช่น 4 เท่า, 6 เท่า 10 เท่า เป็นต้น แสดงว่าบริษัทมีการกู้หนี้ยืมสินมาดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป หากสนใจลงทุนก็ควรระมัดระวัง เพราะในอนาคตอาจจะมีปัญหาด้านสภาพคล่องหรือมีผลขาดทุนสุทธิ ดังนั้น อัตราส่วนนี้ “ยิ่งต่ำก็ยิ่งดี” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกิน 2 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่