ปัญหาเรื้อรัง ค่าเงินบาทแข็ง สัญญาณเชิงลบของเศรษฐกิจ 2563

1 Min Read

ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว 2562 ค่าเงินบาทแข็ง ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทยในปี 2562 ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกโรงมาชี้แจงว่าเงินบาทที่แข็งในปี 2562 กิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยถึงความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้

และการที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าทุบสถิติมากสุดกว่า 6 ปี โดยหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ในวันทำการสุดท้าย 30 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณร้ายของเศรษฐกิจปี 2563 หลายคนอาจจะสงสัยว่าหากเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร และคนไทยได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

ด้านราคาสินค้าที่ต้องจ่าย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศย่อมกระทบต่อราคาสินค้านำเข้า ค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “แข็งค่า” ราคาสินค้านำเข้าจะปรับลดลง นั่นคือหากซื้อสินค้าดังกล่าวก็จะได้ราคา “ลดลง” ตรงกันข้ามหากค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “อ่อนค่า” ราคาสินค้านำเข้าที่ผู้ซื้อต้องจ่ายจะ “เพิ่มขึ้น”

ด้านอัตราเงินเฟ้อ หากค่าเงิน “แข็งค่า” สามารถกดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวเครื่องมือที่ช่วยลดแรงกดดันคือ การใช้นโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวและให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น

ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ค่าเงิน “แข็งค่า” อย่างรวดเร็วและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินลดลงตาม สถาบันการเงินจึงสามารถลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนสูงขึ้นจากต้นทุนกู้ยืมลดต่ำลง ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะช่วยลดแรงจูงใจ​ผู้ออมเงินที่นำมาฝากเอาไว้ อาจนำไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือนำไปใช้แทน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น

ด้านพอร์ตลงทุน บริษัทที่มีฐานรายได้ในรูปสกุลเงินดอลล่าร์และยังมีบริษัทย่อยในต่างประเทศอีก เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าต่อไปอีก อาจมีผลต่อยอดขายและกำไรที่ได้รับเข้ามา เพราะเมื่อแลกเป็นเงินบาทจะได้รับน้อยลง เช่น ต้นปี 1 ดอลล่าร์ แลกได้ 35 บาท วันนี้แลกแล้วเหลือ 33 บาท ดังนั้น หากนักลงทุนมีหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในพอร์ตอาจจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท ถ้าประเมินแล้วจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น อาจจะพิจารณาการปรับพอร์ตลงทุนเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์

ด้านผู้ประกอบการ หากเงิน “แข็งค่า” ขึ้น ธุรกิจที่ต้องนําเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศจะซื้อวัตถุดิบหรือเครื่องจักรได้ถูกลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ตรงกันข้ามผู้ส่งออกจะได้รับผลเสียจากการได้รับรายได้และผลกำไรจากการส่งออกลดลง และเมื่อมีรายได้ลดลงอาจนำไปสู่การตัดสินใจลดกำลังการผลิต และอาจจะส่งผลกระทบต่อการลดการจ้างงานลง

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่