ความรู้เบื้องต้นที่ควรรู้ เพื่อการเข้าใจการลงทุนอย่างยั่งยืน

1 Min Read

แต่ละคนควรมีการจัดสรรรายได้ที่ได้รับมาในแต่ละเดือนโดยแบ่งออกเป็นเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะ เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเพื่อการออม  รายจ่ายส่วนแรกเป็นการใช้จ่ายเพื่อความจำเป็นในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถบริหารจัดการให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้ และในรายจ่ายส่วนที่สอง คือการเก็บออมเงินที่เหลือจากส่วนแรกไว้ใช้ในยามจำเป็น อาจจะเป็นการลงทุน คือการทำอย่างไรให้เงินส่วนที่สองเพิ่มพูนขึ้นมา และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าของเงิน ซึ่งการลงทุนจึงเป็นลักษณะของการนำเอาทรัพย์สินรวมถึงเงินสดที่บุคคลนั้นถืออยู่หรือเก็บสะสมไว้ไปดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม หรือให้ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในช่วงเวลานั้นๆ ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัด หรือความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะยอมรับได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า การลงทุน หมายถึง การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือหลักทรัพย์ของบุคคลหรือสถาบัน โดยมีผลตอบแทน จากการลงทุนที่มาควบคู่กับความเสี่ยง โดยทั่วไปการลงทุนมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

การลงทุนเพื่อการบริโภค (Consumer investment)

การลงทุนของผู้บริโภคเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อสินค้าประเภทคงทนถาวรหรือสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เป็นการลงทุนที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนในลักษณะตัวเงิน แต่หวังความพึงพอใจในการใช้สินทรัพย์ดังกล่าว เช่นการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยถือว่าเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อย่างหนึ่ง เงินที่จ่ายซื้ออาจได้มาจากการออมหรือการกู้ยืม ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในรูปของความพึงพอใจแก่เจ้าของ ในบางกรณีที่อุปสงค์ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทาน มูลค่าของบ้านที่ซื้อไว้อาจสูงขึ้นและสามารถขายทำกำไรได้

การลงทุนในธุรกิจ (Business investment)

การลงทุนในความหมายของธุรกิจ หมายถึง การซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่ารายได้จะเพียงพอเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงในการลงทุนทำธุรกิจ กำไรและความอยู่รอดถือเป็นเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจและจะเป็นตัวดึงดูดใจผู้ลงทุนให้นำเงินมาลงทุน การลงทุนในธุรกิจอาจนำเงินออมที่สะสมไว้หรือเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาลงทุนเพื่อจัดหาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ดิน โรงงาน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น สินทรัพย์เหล่านี้จะนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าและ/หรือให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

การลงทุนในหลักทรัพย์ (Securities investment)

การลงทุนในหลักทรัพย์เป็นการซื้อสินทรัพย์ในรูปของหลักทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือหุ้นทุนของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน การลงทุนในลักษณะนี้เป็นการลงทุนทางอ้อมซึ่งแตกต่างจากการลงทุนของธุรกิจ กล่าวคือ เมื่อผู้มีเงินออมไม่ต้องการจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอง เนื่องจากความเสี่ยงหรือผู้ออมเองยังไม่มีเงินมากพอ ผู้ลงทุนอาจนำเงินที่ออมได้ไปซื้อหลักทรัพย์ที่พอใจที่จะลงทุน ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลแล้วแต่ประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุน นอกจากนี้ผู้ลงทุนอาจได้ผลตอบแทนอีกลักษณะหนึ่ง คือ กำไรจากการขายหลักทรัพย์หากราคาเสนอขาย (Offer) สูงกว่าราคาเสนอซื้อ (Bid) ทั้งนี้ผลตอบแทนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

“การบริหารรายได้” นั้นยากเสียยิ่งกว่า เพราะต่อให้เราสามารถหาเงินมาได้มากมายแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักการบริหาร การจัดสัดส่วนของรายได้ที่ได้รับ เงินมากมายที่หามาได้ก็สามารถหายไปได้ในพริบตาเช่นเดียวกัน การใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนไม่ใช่เรื่องขำๆ แต่มันหมายถึงการย่ำอยู่กับที่ของสถานภาพทางการเงิน คุณไม่มีทางลงทุนได้ถ้าไม่มีเงินออม เช่นเดียวกับที่คุณไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ถ้าไม่มีเงินสำรองยามฉุกเฉิน ดังนั้นการแบ่งสัดส่วนรายได้ออกเป็นส่วนๆจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามของทุกๆคน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดๆก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่