หลักจากที่เราศึกษาพื้นฐานของบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุน จนได้บริษัทที่เราต้องการ การวางกลยุทธ์ในการซื้อและการขายก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเรียนรู้ ในบางครั้งราคาหุ้นแต่ละตัวนั้นขึ้นลงได้รวดเร็วมาก เร็วกว่าพื้นฐานของบริษัทที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือแม้แต่เดือนหรือไตรมาสด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุน และแรงซื้อขายเก็งกำไรต่างๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลาในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้เราเลยนำกลยุทธ์ต่างๆ ในการซื้อหุ้นอย่างคร่าวๆ คือการทำ DCA ดังต่อไปนี้
DCA หรือ Dollar Cost Average คือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน เป็นการที่เรากำหนดการลงทุนเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไร เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ เราสามารถซื้อหน่วยลงทุน หรือหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นหากราคาหุ้นปรับตัวต่ำลง และจะซื้อได้น้อยลงในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยเฉลี่ยแล้วเราจะไม่ต้องมาคอยกะเก็งการขึ้นๆ ลงๆ ของราคาหุ้น หรือของกองทุนที่เราต้องการซื้อเฉลี่ย
DCA | ราคาหุ้น | เงินซื้อเฉลี่ยทุกเดือน | จำนวนหุ้นที่ได้ |
เดือนที่ 1 | 20 | 3,000 | 150 |
เดือนที่ 2 | 16 | 3,000 | 188 |
เดือนที่ 3 | 23 | 3,000 | 130 |
เดือนที่ 4 | 21 | 3,000 | 143 |
เดือนที่ 5 | 17 | 3,000 | 176 |
ราคาเฉลี่ย | 19.4 | 15,000 | 787 |
จากตารางจะเห็นว่าราคาที่เราต้องการซื้อจะขึ้นลงอยู่ระหว่าง 17 – 23 บาท เราเฉลี่ยซื้อในทุกๆเดือนอย่างเท่าๆกัน เราใช้เงิน 15,000 บาท ได้จำนวน 787 หุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 19.4 บาท แต่ถ้าหากเราเอาเงิน 15,000 บาทซื้อครั้งเดียวจังหวะหุ้นราคาแพง ที่เดือน 3 หุ้นละ 23 บาท เราจะได้หุ้นเพียง 652 หุ้นเท่านั้น
ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์ต่างๆแนะนำให้ลงทุนเพื่อการออมด้วยวิธีการ DCA แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวังอยู่ 2 อย่างหลักๆ คือ
– DCA หุ้นไม่เติบโต การทำ DCA ไม่ได้เหมาะกับหุ้นทุกประเภท หุ้นบางตัวพื้นฐานมาดีแต่ อัตราการเติบโตของกำไรต่ำ ย่อมค่อยๆสะท้อนไปที่ราคาหุ้นที่ลดลง อาจจะไม่เหมาะกับการซื้อหุ้นพื้นฐานดีแต่อยู่มีแนวโน้มขาลง
– DCA กับหุ้นเพียงไม่กี่ตัว หลายคนอาจจะทำการลงทุนกับหุ้นแค่ 1-3 ตัวเท่านั้น อาจจะทำให้เจอความเสี่ยง ถ้าหุ้นที่ทำ DCA ผลประกอบการไม่ดี ก็สามารถทำให้ราคาหุ้นลงอย่างรุนแรง อาจก่อปัญหาให้กับพอร์ตลงทุนของคุณ