เมื่อไม่นานที่ผ่านมาวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย ประจำปี 2562 โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 ผลปรากฎว่าได้แชมป์เศรษฐีหุ้นคนใหม่
สารัชถ์ รัตนาวะดี ก้าวขึ้นเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยคนใหม่ อย่างที่รู้กันดีว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี ถือครองหุ้น GULF เพียงบริษัทเดียว มูลค่ากว่า 120,960 ล้านบาท ผลจากราคาหุ้น GULF ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี จากราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) 45 บาท/หุ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2560 พุ่งขึ้นมาเป็น 160 บาท/หุ้น ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ปัจจุบันสารัชถ์ รัตนาวะดี ดำรงตำแหน่ง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF
สารัชถ์ รัตนาวะ จากที่รายงานกับตลาดหลักทรัพย์ พบว่าก่อนหน้านี้เคยลงทุนหุ้นได้แก่ GLAND, LANNA, NWR-W2, PAF, TWZ และ ZMICO แต่ในปัจจุบันเหลือการลงทุนเพียง GULF เท่านั้น ประวัติการการศึกษาจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท วิทยาศาสตร์ สาขาการจัดการทางวิศวกรรม University of Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา
GULF : บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กลุ่ม อุตสาหกรรมทรัพยากร หมวด ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ค่าทางสถิติสำคัญ ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2562 ราคาปิด 161.50 บาทต่อหุ้น ล่าสุดP/E = 75.97, P/BV = 9.12, อัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ 0.74 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 344,527.95 ล้านบาท วันที่เริ่มต้นซื้อขายเมื่อ ธ.ค. 2560 ผ่านมา 2 ปี ก็มีการปันผลจากกำไรสุทธิและกำไรสะสมทั้ง 2 ปี
ด้านงบการเงินเบื้องต้นทั้งสินทรัพย์ รายได้ เพิ่มขึ้น และกำไรจากข้อมูลไตรมาส 3 ของปีนี้ก็เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากห้วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรกของ GULF
นาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ถือ 35.44%
UBS AG SINGAPORE BRANCH ถือ 11.97%
GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED ถือ 10.48%
GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. ถือ 7.45%
บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 4.69%
กัลฟ์ (Gulf) บริหารโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งให้บริการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) และภาคเอกชนในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศไทย นอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าบางแห่งยังผลิตไอน้ำและน้ำเย็นให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้บริษัทกัลฟ์ (Gulf) ยังให้บริการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ภายในกลุ่มบริษัท เริ่มตั้งแต่กระบวนการพัฒนาและก่อสร้างโครงการ ไปจนถึงการบริหารจัดการภายหลังที่โครงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว
กัลฟ์มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาแหล่งพลังงานสำหรับอนาคต ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงชีวมวลและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ กัลฟ์ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างและพัฒนาโครงการแหล่งพลังงานที่มีมูลค่าสูง โดยการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ ให้สอดคล้องผ่านความเป็นเลิศในการดำเนินงาน การดูแลเงินทุน และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้วางแผนที่จะเพิ่มผลกำไรผ่านธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และลงทุนตามเป้าหมายเพื่อการเป็นผู้นำที่มอบผลตอบแทนระดับสูงในอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน กัลฟ์ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยและต่างประเทศทั้งสิ้น 27 โครงการ ได้แก่
– โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 2 โครงการ
– โครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ (Cogen) จำนวน 19 โครงการ
– โครงการ VSPP พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) จำนวน 4 โครงการ
– โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)
และมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจำนวน 6 โครงการ ได้แก่
– โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 2 โครงการ
– โครงการ SPP ชีวมวล จำนวน 1 โครงการ
– โครงการ Captive (ประเทศโอมาน) จำนวน 1 โครงการ
– โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) จำนวน 1 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)
– โครงการพลังงานลม จำนวน 1 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)