กองทุน SSF มีหลายระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง และยังให้สิทธิ์ในการสับเปลี่ยนกองทุนได้ตลอด (การสับเปลี่ยนในกลุ่มกองทุน SSF ไม่ถือเป็นการขายและซื้อหน่วยลงทุนใหม่) หากไม่พอใจกับผลการดำเนินงานของบลจ. ที่ลงทุนอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าเงื่อนไขของการลงทุนในกองทุน SSF นั้นเหมาะกับการถือครองในระยะยาว ซึ่งนอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากการลงทุน คือ ผลตอบแทนนั่นเอง อีกเหตุผลสำคัญที่ กองทุน SSF เป็นกองทุนที่น่าลงทุนในปีนี้ ก็เพราะว่ามันถูกออกแบบมาให้สำหรับคนที่เป้าหมายในระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) โดยที่ไม่ไปรวมกับส่วนที่เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่าง RMF เช่น กลุ่มเด็กจบใหม่ หรือ กลุ่มที่เริ่มทำงาน ที่ต้องการเก็บเงินตามเป้าหมายในระยะ 10 ปีขึ้นไป เพื่อรองรับอนาคตข้างหน้า หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องการเก็บเงินแยกออกจากเงินเกษียณตามวัตถุประสงค์ด้านอื่นๆ เพราะข้อดีของกองทุน SSF คือ เราไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี แค่ซื้อแล้วต้องถือครองตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
กองทุน SSF ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจประจำปี 2564 กองทุนรวมเพื่อการออม ซึ่งถือว่า กองทุน SSF นี้เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน โดยเงื่อนไขในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี คือ ผู้เสียภาษีสามารถซื้อกองทุนรวม SSF ได้สูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี แต่เงินที่ซื้อสูงสุดต้องไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนั้นเมื่อนำยอดซื้อกองทุนรวม SSF มารวมกับค่าลดหย่อนในกลุ่มเกษียณ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วย หากซื้อ กองทุน SSF ในปีไหนจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้นทันที โดยไม่มีเงื่อนไขให้ซื้อติดต่อกันเหมือนกับ RMF เมื่อซื้อแล้ว ต้องถือครองกองทุน SSF เป็นเวลา 10 ปี (เต็ม) นับตั้งแต่วันที่ซื้อกองทุน
ถามความต้องการของตัวเองก่อน นั่นคือ เป้าหมายในการลดหย่อนภาษี และ ลงทุนระยะยาว 10 ปีขึ้นไป พร้อมกับกระแสเงินสด (สภาพคล่อง) ในแต่ละปี ถ้าหากตอบคำถามตัวเองได้ว่า ในเมื่อเราเสียภาษี และมีเงินอยู่ พร้อมที่จะลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้ข้างหน้าอย่างน้อย 10 ปี กองทุน SSF นี้ก็อาจจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจ
ประเมินผลตอบแทน ความเสี่ยง และสไตล์การลงทุนของกองทุนที่เหมาะกับเรา ทั้งเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ หรือ แบบผสมผสานการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในแต่ละระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งถ้าหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกับประเมินความเสี่ยงไว้ครบถ้วนแล้ว การเลือกสินทรัพย์ลงทุนก็จะยิ่งง่ายขึ้นไปอีก
พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียม เงินปันผล ผลตอบแทนที่ผ่านมา โดยปัจจัยในการพิจารณาอยู่ที่น้ำหนักของแต่ละคนที่ให้กับเรื่องนั้น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเหมาะสมกับผลการดำเนินงานหรือไม่ เราอยากได้รับเงินปันผลเป็นกระแสเงินสดมาเรื่อย ๆ หรือไม่ (แต่ต้องแลกกับการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%) ไปจนถึงผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทุน SSF บางกองเป็นกองที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกับกองทุนเดิมของ บลจ. ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาด้วยว่าเราให้น้ำหนักกับเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือไม่