หลายคนคงจะมีความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่กันอย่างมีความสุข แต่บ้านก็ราคาแสนแพง ถ้าเราไม่มีเงินสดพอจะซื้อบ้านราคาหลังละเป็นหลายๆล้าน ก็ต้องทำการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ถือเป็นทางออกในการที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งก็มีสถาบันการเงินหลากหลายพร้อมรอให้บริการอยู่มากมาย วันนี้ Za.in.th จึงอยากแนะนำเทคนิคการสมัครสินเชื่อบ้านที่อาจะดูเป็นเรื่องยากให้ดูเป็นเรื่องง่ายๆ รับรองว่าทำตามเทคนิคนี้แล้วกู้บ้านผ่านอย่างแน่นอน ด้วยเทคนิคการสมัครสินเชื่อบ้าน ก็คือการวางแผนขอสินเชื่ออย่างเป็นระบบที่จะทำให้ไปถึงฝั่งฝันคือการมีบ้านเป็นของตัวเองอย่างแน่นอน
ประมาณการกู้เบื้องต้นว่าเราสามารถผ่อนบ้านที่ระดับราคาเท่าใด
ประเมินเงินเดือนและรายรับของเรา ว่าสามารถผ่อนบ้านที่ระดับราคาไหนได้บ้าง โดยเริ่มจากการประมาณการรายได้ นอกจากรายได้ที่เป็นเงินเดือนของผู้กู้แล้ว ธนาคารยังพิจารณารายได้อื่น ๆ ที่ผู้กู้ได้รับด้วย ทั้ง รายได้คงที่ คือ รายได้ที่จะได้รับอย่างแน่นอน เช่น เงินเดือน โบนัสประจำ (Fix Bonus) เป็นต้น และรายได้ไม่คงที่ คือ รายได้ที่อาจจะได้รับหรือไม่ได้รับก็ได้ และจำนวนที่จะได้รับมีความแปรผันจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โบนัส (Variable Bonus) เบี้ยเลี้ยง ค่าล่วงเวลา (OT) ยอดขายสินค้า (Commission, Incentive) ค่าบริการ (Service Charge) เบี้ยเลี้ยง เป็นต้น หลังจากนั้นประมาณการหนี้สิน “การใช้จ่ายของผู้กู้” ในลักษณะของการใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการจ่ายไปเพื่อใช้หนี้ให้เจ้าหนี้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด จากการประมาณการรายได้และรายจ่ายจากภาระหนี้สินของผู้กู้แล้ว ธนาคารจะนำทั้ง 2 สิ่งมาประกอบกันเพื่อพิจารณาความสามารถทางการเงินของผู้กู้ โดยภาระหนี้สินทั้งหมด ทั้งหนี้สินระยะยาวอย่างสินเชื่อบ้าน รวมกับหนี้ระยะสั้น ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด แล้วจะต้องไม่เกิน 70% ของรายได้ต่อเดือน สถานะทางการเงินของคุณ A จากการประมาณการรายได้ เท่ากับ 71,991 บาท และประมาณการรายจ่ายภาระหนี้ เท่ากับ 28,000 บาท โดยในจำนวนนี้เป็นการผ่อนบ้าน 21,000 บาท คุณ A ยังคงมีความสามารถทางการเงินที่จะกู้ซื้อบ้านอีกหรือไม่
[รายได้ x 70%] – หนี้สินทั้งหมด = ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สูงสุด
[71,991 x 70%] – 28,000 = 22,393 บาท
จากการประเมินความสามารถทางการเงินทำให้ทราบรายจ่ายภาระหนี้ที่มีความเป็นไปได้ ที่คุณ A จะสามารถผ่อนชำระเพิ่มจากการกู้บ้านอีกหลัง โดยอัตราผ่อนที่เพิ่มขึ้นจะต้องไม่เกิน 22,393 บาท ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้รวมของคุณ A ในแต่ละเดือนอยู่ในสัดส่วน 70% ของรายได้ต่อเดือน
การเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับเรา
สถาบันการเงินที่จะกู้เพื่อซื้อบ้านก็เหมือนกันปัจจุบันมีอยู่มากมาย เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ควรจะทำการศึกษาว่าควรกู้ธนาคารที่ไหนดี ที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดเงินมากที่สุด และมีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด การไปเดินตามงาน money expo ซึ่งแต่ละธนาคารจะมาออกบูทเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านอยู่แล้ว ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เลือกสถาบันการเงินที่ให้ประโยชน์กับเรามากที่สุด อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารเป็นแบบที่เราต้องการหรือไม่ เพราะแต่ละธนาคารมักมีอัตราดอกเบี้ยหลายแบบแตกต่างกัน ผมจะดูที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่งเป็นเกณฑ์ในการเลือกเป็นสำคัญ โดยอัตราดอกเบี้ยก็มีหลายแบบแตกต่างกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกต่อจากนั้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว
การขออนุมัติสินเชื่อล่วงหน้า (Pre-approval)
การขออนุมัติสินเชื่อล่วงหน้านั้นก็เปรียบเสมือนการอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคาร เพียงแต่ธนาคารจะประเมินให้เบื้องต้นเท่านั้นเอง ยังไม่ใช้เอกสารหลักฐานจริง พิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูล หรือกรอกในแบบฟอร์มยื่นกู้ หากข้อมูลที่เพื่อนๆ ให้ในการทำ pre-approveครบถ้วนและถูกต้อง จะช่วยให้เวลายื่นกู้จริงเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยการขออนุมัติสินเชื่อล่วงหน้านั้น ธนาคารและสถาบันการเงินจะบอกให้เราทราบถึง วงเงินสูงสุด ระยะเวลาและค่างวดผ่อนชำระโดยประมาณที่เราสามารถกู้ได้ ซึ่งข้อมูลต่างๆนี้จะทำให้การซื้อบ้านของเพื่อนๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ โดยส่วนใหญ่ธนาคารจะคงสิทธิผลการ pre-approve ของเราไว้ประมาณ 3 เดือน หากต้องการกู้จริงก็ยื่นหลักฐานประกอบต่าง ๆ ไปซึ่งจะทำให้เวลาเรากู้จริงจะสะดวกขึ้นมาก
สมัครสินเชื่อเพื่อการยื่นกู้จริง
เลือกกู้กับธนาคารที่พึงพอใจสูงสุดและในวงเงินที่ผ่าน การpre-approveจนมั่นใจแล้วว่าถ้ากู้จริงน่าจะกู้ผ่านแน่นอน เพื่อนๆก็ลงสนามคือ สมัครสินเชื่อเพื่อการยื่นกู้จริงได้เลย
1. หลักฐานประจำตัว ได้แก่
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– บัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนาเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)
– ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า
2. หลักฐานเกี่ยวกับรายได้ ได้แก่
– กรณีผู้มีรายได้ประจำ
– สลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองการทำงาน (ตัวจริง)
– สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หลักฐานอันนี้สำคัญที่สุดในการกู้บ้านเลยนะครับ ผมแนะนำจากประสบการณ์จริงว่า ควรทำ statement ให้สวยๆ ถ้ามีหนี้อะไรควรโปะให้หมด ให้ดูว่าเรามีรายได้แน่นอนและไม่มีหนี้ หรือถ้ามีหนี้ก็จ่ายครบตรงกำหนดไม่เคยขาดการจ่ายหนี้ ธนาคารจะประเมินจากหลักฐานรายได้เป็นสิ่งสำคัญเลยครับ
– สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
– กรณีบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว
– สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน / ใบทะเบียนการค้า
– สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่อผู้กู้ / ผู้กู้ร่วม
– สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน (ทั้งในนามบุคคลและกิจการ)
– สำเนา ภ.พ.30 (ถ้ามี)
3. หลักฐานเกี่ยวกับหลักทรัพย์และการซื้อขาย
– สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด
– แผนที่แสดงทำเลที่ตั้งของที่ดินหลักประกัน
– สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ