“ คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2541
อันที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยในวิสัยทัศน์การมองภาพการลงทุนหรือการทำกิจการงานใดๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ว่าควรต้องดำเนินไปอย่างมีความพอดีและเป็นไปตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับพสกนิกรชาวไทย เป็นการชี้แนะแนวการดำรงอยู่ของประชาชนในทุกระดับ ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับรัฐบาล ทั้งการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนต้องตั้งมั่นบนเงื่อนไข การใช้ความรู้และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ
ในการลงทุน ก็สามารถใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการลงทุนได้อย่างไม่ยาก ซึ่งหากเราหมั่นปฏิบัติด้วยความเพียรพยายามแล้ว ผลตอบแทนที่ได้จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
๐ ความพอประมาณ ผู้ลงทุนจะต้องมีความพอดี ลงทุนเหมาะสมกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ และมีความคาดหวังกับผลตอบแทนที่พอเพียง ซึ่งไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป รู้จักขายเมื่อได้กำไรถึงระดับที่ตั้งใจไว้ ไม่โลภ
๐ ความมีเหตุผล การตัดสินใจในการลงทุนแต่ละครั้ง ต้องอยู่ในระดับของความพอเพียงและมีเหตุผล โดยควรพิจารณาจากเหตุปัจจัยในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทั้งการดูพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการลงทุนอย่างรอบคอบ และมีการติดตามบริหารพอร์ต
การลงทุนอยู่สม่ำเสมอ
๐ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว การที่ผู้ลงทุนต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเมือง การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน อีกทั้งนักลงทุนควรคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทหลักทรัพย์ที่ลงทุน และควรกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมลง
นอกจากนั้น การตัดสินใจลงทุนและดำเนินกิจกรรมการลงทุนต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยเงื่อนไขทั้งความรู้และคุณธรรมประกอบควบคู่กันไปกับการใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ
๐ เงื่อนไขความรู้ ผู้ลงทุนจะต้องมีความรอบรู้ในด้านการลงทุน มีความรอบคอบที่จะนำความรู้การลงทุนเหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนการลงทุน และความระมัดระวังในขั้นตอน
การซื้อขาย
๐ เงื่อนไขคุณธรรม เป็นจริยธรรมการลงทุน ที่ต้องเสริมสร้างให้กับจิตสำนึกของผู้ลงทุน ด้วยความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ลงทุนอย่างถูกต้องตามเงื่อนไข และใช้สติปัญญาในการลงทุนอยู่เสมอ
สุดท้ายนี้ การเดินตามรอยของพ่อ ด้วยการลงทุนแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องเริ่มจากตนเอง โดยเริ่มจากใจที่รู้จักพอเสียก่อน แล้วความมั่งคั่งจะเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างยั่งยืน