ความรู้นักลงทุนมือใหม่ GNP ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

1 Min Read

เราได้มีโอกาสแนะนำเรื่อง GDP กันมาแล้ว (GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) วันนี้เราจะมาแนะนำ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Product ที่นิยมเรียกกันย่อๆว่า GNP

 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Product : GNP หมายถึงมูลค่าของสินค้า รวมถึงบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นมาก โดยใช้ทรัพยากรที่ประชากรของประเทศนั้นเป็นเจ้าของอยู่ ทั้งที่ผลิตในและนอกประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง โดยอาจคำนวณเป็นรายไตรมาส ครึ่งปี 6 เดือน หรือ 1 ปี การคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติจะประกอบด้วย 3 วิธี คือ การคำนวณทางด้านผลผลิต ทางด้านรายจ่าย และทางด้านรายได้การคำนวณทางด้านผลผลิต เป็นการรวมมูลค่าของผลผลิตขั้นสุดท้าย ส่วนการคำนวณทางด้านรายจ่าย เป็นการรวมรายจ่ายต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

1.รายจ่ายเพื่อการบริโภคของเอกชน
          2.รายจ่ายเพื่อการลงทุนของเอกชน ซึ่งจำแนกเป็นการซื้อเครื่องมือเครื่องจักร สินค้าคงคลัง และค่าก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่
          3.รายจ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐบาล
          4.การส่งออกสุทธิ
สำหรับการคำนวณทางด้านรายได้ เป็นการคำนวณผลรวมของค่าจ้าง ดอกเบี้ยกำไรก่อนเสียภาษี และค่าเสื่อมราคา

การคำนวณ GNP

ค่า GDP และ GNP มีความสัมพันธ์กันและสามารถปรับค่า GDP ให้เป็นค่า GNP ได้โดยคำนวณหาค่ารายได้สุทธิจากต่างประเทศ (net income from abroad) และนำมารวมกับ GDP ดังนี้
GNP = GDP + รายได้สุทธิจากต่างประเทศ
และ รายได้สุทธิจากต่างประเทศ = รายได้จากต่างประเทศ – รายได้ที่จ่ายให้ต่างประเทศ

ความแตกต่างของ GDP และ GNP

GNP จะนับมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายเฉพาะที่ใช้ทรัพยากรของคนในประเทศนั้นๆ ในการผลิต โดยไม่สนใจว่าคนของประเทศนั้น ๆ จะอยู่ที่ใดในโลก หรือก็คือรายได้ของคนในประเทศที่ไปทำรายได้ทั้งในและต่างประเทศ
GDP เป็นมูลค่าของสินค้าและบริการเฉพาะที่เกิดอยู่ในประเทศ ไม่ต้องคิดว่าชาติใดเป็นผู้ผลิต หรือก็คือรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งจากคนในประเทศและชาวต่างชาติ

ผลิตภัณฑ์ในราคาประจำปีและผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง

ผลิตภัณฑ์ในราคาประจำปี (Nominal GDP or Nominal GNP) เป็นค่าที่วัดได้ในแต่ละปีจากราคาตลาด (หรือราคาต้นทุน) ของปีนั้น มูลค่า GDP ที่คำนวณได้จึงเป็นมูลค่าที่เป็นตัวเงิน (money term) ในราคาของปีนั้น (current year) หรือผลิตภัณฑ์ในราคาประจำปี (nominal GDP or nominal GNP) ซึ่งแสดงให้ทราบว่า ในปีนั้นๆ ประเทศสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาได้มูลค่าเท่าใด ในกรณีที่ต้องการดูการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตระหว่างปีจะไม่สามารถนำค่าในแต่ละปีมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงค่า GDP ในแต่ละปีอาจจะเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน
ผลิตภัณฑ์ที่แท้จริง (Real GDP or Real GNP) เป็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายในปีใดปีหนึ่งที่คิดในราคาตลาดหรือราคาต้นทุนของปีที่กำหนดให้เป็นปีฐาน (base year) หรือมีการปรับการเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละปีออกแล้วเพราะคิดในราคาคงที่ของปีที่กำหนดให้เป็นปีฐาน

ประโยชน์ของตัวเลขผลิตภัณฑ์

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มีประโยชน์สำคัญที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคได้ดังนี้

1. เป็นเครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจมหภาค ตัวเลขผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจมหภาคด้านต่างๆ เช่น กิจกรรมเศรษฐกิจด้านการผลิต ด้านรายจ่าย เป็นต้น นักเศรษฐกิจ ผู้บริหารประเทศ นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปจะทราบได้ว่า ในปีนั้นประเทศสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้เป็นมูลค่าเท่าใด การใช้จ่ายของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ และใช้ประโยชน์ในการวางแผนและนโยบายของภาครัฐและเอกชน
2. เป็นเครื่องชี้การเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ตัวเลขผลิตภัณฑ์จะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิต การใช้จ่าย และรายได้ ความผันผวนของปัจจัยดังกล่าวจะแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความผันผวนดังกล่าวอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยทางภูมิอากาศ เป็นต้น
3. เป็นเครื่องเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอาจใช้เปรียบเทียบในระยะเวลาที่ต่างกันหรือใช้เปรียบเทียบฐานะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในกรณีเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปีใดปีหนึ่ง
4. เป็นเป้าหมายในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวเลขผลิตภัณฑ์เป็นเป้าหมายในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะเวลาหนึ่งๆ ผู้วางแผนจะกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไว้และภาครัฐต้องพยายามเร่งรัดให้การเศรษฐกิจดำเนินไปในทิศทางที่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย
Author: ผู้เชี่ยวชาญการเงินการลงทุน ซ่าอินไทย

ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่

Share this Article
ติดตามข่าวสารการเงินการลงทุนทุกรูปแบบได้ที่นี่